วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

คู่มือดับทุกข์ ฉบับสมบูรณ์ โดย ท่านอิสระ ตอนที่ ๕

พระพุทธชินราช พิษณุโลก

*กาย และจิต เป็นมวลธาตุหยาบและละเอียด มิใช่ตัวเรา*
การเข้าใจทุกสิ่งถึงธาตุแท้ได้  จึงชื่อว่า  พุทธะ
ทุกสิ่งเป็นอิสระอยู่แล้ว เพราะเห็นใจที่สงบ
การเข้าใจตัวจริงของตนได้  จึงเชื่อว่า  เป็นอิสระ*

*อิสระ  หมายถึง เป็นอิสระจากความคิด  ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง ที่มันเป็นอยู่ หรือจากสิ่งผูกมัดใจทั้ทงปวง

(คำสอนของลูกเณร ๒๓/๓/๒๕๕๑  โดยครูบาเณร  วัดพระมหาชินธาตุเจ้าศรีจอมคำอรัญวาสี  อ.เชียงคำ  จ.พะเยา)

คู่มือดับทุกข์  ตอนที่ ๕


๔๑.  ในตอนเจ็บไข้ได้ป่วย  จงอย่าคิดอยากจะหายจากโรคนั้น  แต่จงคิดว่า ท่านจะรักษาโรคไปตามเรื่องของมัน บางทีก็หาย บางทีก็ไม่หาย  อย่างไรก็ตาม  ถึงเม้ท่านไม่เป็นโรคนี้ท่านก็ต้องตายอยู่แล้ว  ดังนั้น  จึงไม่จำเป็นจะต้องเสียใจหรือหวาดกลัวต่อโรคนั้น

๔๒.  จงตามดูความรู้สึกภายในจิตอยู่เสมอ  ถ้าจะวิตกกังวลให้ตัดทิ้งเลย ถ้าจะหงุดหงิดตัดทิ้งเลย  ถ้าจะห่วงอะไรก็ตัดทิ้งไปเลย  ถ้าทำอย่างนี้อยู่เสมอ  ปัญญาของท่านก็จะสมบูรณ์เต็มเปี่ยมอยู่ในจิต  นี่แหละคือทรัพย์อันประเสริฐสุดในชีวิตของท่าน และสิ่งแวดล้อมร้ายต่าง ๆ ก็จะสลายตัวไปเองในที่สุด

๔๓.  ปัญหาที่ทำให้ท่านหนักใจเป็นทุกข์  จะไม่เกิดขึ้นในจิต  ถ้าท่านทำให้สลัดอารมณ์ดีร้ายเหล่านั้น อยู่เช่นนี้เสมอ 

๔๔.  สมาธิก็จะมั่นคงต่อเนื่องอยู่ในจิต  แม้ท่านจะกำลังเดินเหินไปมาหรือทำการงานทุกอย่างอยู่  ถ้าท่านพยายามทำจิตให้ปล่อยวางอยู่อย่างนี้  สมาธิก็จะมั่นคงยิ่งขึ้น

๔๕.  อย่าคิดจะให้สิ่งต่าง ๆ มันเป็นไปตามใจของท่านเอง  แต่จงคิดว่า  มันจะเกิดเรื่องดีร้ายอย่างไรก็ให้มันเกิด ท่านจะพยายามหาทางแก้ไขมันไปตามความสามารถ แก้ได้ก็เอา  แก้ไม่ได้ก็เอา  เรื่องดีก็ทิ้ง  เรื่องร้ายก็ทิ้ง  สุขก็ทิ้ง  ทุกข์ก็ทิ้ง  แล้วจิตของท่านก็จะเป็นิสระและไม่เป็นทุกข์เลย


๔๖.  ท่านจงอย่าปล่อยให้ความอยาก  ความรักตัว หวงตัว เกิดขึ้นในจิต  เพราะธรรมชาติอย่างนั้นมันเป็นสิ่งสกปรกที่จะบั่นทอนจิตของท่านให้ตกต่ำและเป็นทุกข์

๔๗.  พอมีเวลาว่าง  จงน้อมจิตเข้าสู่สมาธิอันสอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ  แม้จะทำครั้ละ ๕ นาที  สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้นในจิตได้เช่นเดียวกัน  และจะเพิ่มปริมาณความสงบสอาดของมันขึ้นเรื่อยไป  จิตของท่านก็จะมั่นคงแข็งแกร่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป


๔๘.  จงอย่าคิดว่า  ฉันปฏิบัติไม่ได้  ฉันไม่มีกำลังใจที่จะปฏิบัติควบคุมจิตของตัวเอง  อย่าคิดอย่างนั่นเป็นอันขาด  เพราะเป็นการดูหมิ่นตัวเอง เป็นการตีค่าตัวเองต่ำเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งทีไม่ถูกต้องเลย
๔๙.  เมื่อมีปัญหายุ่งยากเกิดขึ้น  จงหยุดคิดทุกอย่างก่อน  ให้น้อมจิตเข้าสู่การกำหนดลมหายใจ  นับ ๑-๒ กลับไปกลับมาพร้อมกับลมหายใจนั้น สัก ๑ นาที  แล้วจึงน้อมจิตเข้าไป พิจารณาปัญหานั้นว่า  นี่มันคืออะไร?  ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เป็นทุกข์ไปกับมัน?  เราควรจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เรื่องนี้สงบไปได้อย่างถูกต้องที่สุุด?

๕๐.  การทำอย่างนีัจะทำให้ท่านสามารถเข้าใจสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง  และท่านจะเกิดความคิดที่เฉียบแหลมในการที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้ตามสติปัญญาของตัวเอง


จบตอนที่ ๕ ของคู่มือดับทุกข์ ฉบับสมบูรณ์ โดยท่านอิสระ

พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมบรรณาการ โดย ณัฐนันท์ วังวีระนุสรณ์
๒๖ เมษายน ๒๕๕๓

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น