วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

คู่มือดับทุกข์ ฉบับสมบูรณ์ โดย ท่านอิสระ ตอนที่ ๔


พระพุทธชินราช

สัพพะทานัง  ธรรมะทานัง  ชินาติ
การให้ธรรมะเป็นทานชนะการให้ทานทั้งปวง

สุขะโต    สุขะทานัง
ให้สุขแก่ท่าน    สุขนั้นถึงตน

คู่มือดับทุกข์ตอนที่ ๔

๓๑.  จงจำไว้ว่า  ไม่มีสิ่งใดที่จะมาทำให้ท่านเป็นทุกข์ได้  นอกจากความคิดผิดของท่านเอง  ถ้าท่านคิดผิด  ท่านก็จะเป็นทุกข์  ถ้าท่านคิดถูก  ท่านก็จะไม่เป็นทุกข์

๓๒.  จงอย่าเชื่อถือสิ่งงมงายไร้เหตุผล  เช่น  เมื่อมีความทุกข์  หรือเกิดเรื่องไม่ดีไม่น่าปรารถนาขึ้น  ก็ไปบนเจ้าที่เจ้าทาง  ไปไหว้จอมปลวก  ไหว้ต้นไม้ใหญ่ ฯลฯ  ปรารถนาจะให้วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านหลงผิดคิดว่ามีอยู่ในสถานที่เหล่านั้น  มาช่วยท่านให้พ้นทุกข์อย่างนี้เป็นต้น  นี่คือความงมงาย  จงละเลิกมันเสีย  เพราะมันจะทำให้ท่านสิ้นเปลืองทรัพย์สินและเวลาโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย  พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เชื่อในสิ่งเหล่านั้น  ท่านสอนให้สร้างแต่กรรมดี  คิดดี  ทำดี

๓๓.  จงรู้ความจริงว่า  เรื่องที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจนี้เป็นธรรมชาติธรรมดาที่มีอยู่ในโลกนี้  บางทีท่านก็ได้ตามที่ปรารถนา  แต่บางทีก็ไม่ได้ตามที่ปราถนา  มันเป็นของธรรมดาอยู่อย่างนี้เอง  อย่าตื่นเตันดีในหรือเสียใจไปกับมัน

๓๔.  ตอลดเวลาที่ท่านกำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่  จงน้อมจิตให้มองเห็นความสงบที่ท่านเคยพบในการฝึกสมาธิและจงมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งทุกอย่างภายนอก  จงแยกมันให้ออกว่า  สิ่งหนึ่งคือจิตอันสงบของทาน  ส่วนอีกสิ่งหนึ่งคือความปรุงแต่งวุ่นวายของโลก  สิ่งทั้งสองนี้ มันแยกกันอยู่โดยธรรมชาติของมัน

๓๕.  ถ้าท่านไม่มองหาความสงบ  แต่หันไปอยากได้ อยากดี กับสิ่งภานยนอก  จิตของท่านก็จะสับสนวุ่นวายและเป็นทุกข์  แต่ถ้าท่านมองเห็นความสงบของจิต และควบคุมจิตไม่ให้เกิดความอยากความทะเยอทะยานที่่ไม่รู้จักพอ  จิตของท่านก็จะสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา  ไม่ว่าท่านจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน  ไม่ว่าท่านจะร่ำรวยหรือยากจน แต่จิตของท่านก็จะไม่เป็นทุกข์ เพราะการฝึกจิตด้วยวิธีการนี้



๓๖.  จงใช้ปัญญาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งปัญญานั้น  หมายถึงความมีสติที่รู้จักประคับประคองจิตให้สะอาดอยู่เสมอ  รู้จักทำจิตให้ปล่อยวาง  ทำจิตให้โปร่งเบา  รู่เท่าทันว่าอะไรถูกอะไรผิด  ถ้าผิดท่านจะไม่ทำไม่พูด  ถ้าถูกท่านจึงจะทำจะพูด และรู้จักพิจารณาว่าหน้าที่ที่ท่านจะทำกับสิ่งนั้น ๆ คืออะไร  แล้วก็ทำหน้าที่นั่นให้ดีที่สุด  พยายามแก้ปัญหานั้นให้สงบไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมและถูกต้องที่สุด  โดยไม่เห็นแก่ตัว  วสิธีนี้จะทำให้ปัญญาของท่านคมชัด และจะไม่มีความทุกข์อยู่ในจิตเลย

๓๗.  ท่านต้องรู้ว่า  คนส่วนมากในโลกนี้มีกิเลส  คือความโลภ โกรธและหลง  ดังนั้น  ความผิดถูกของการกระทำต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ บางทีก็โง่ บาทงทีก็ฉลาด  เพราะฉะนั้น  ท่านจะต้องให้อภัยเขา  ค่อย ๆ พูด ไม่ด่าว่ารุนแรงกับเขา  ท่านจะต้องใช้ปัญญาเข้าไปสอนเขา ไปชักจูงเขาให้เดินในทางที่ถูก  นี่คือหน้าที่ของผู้มีปัญญาที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนโง่ที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นจำนวนมาก  ผลที่จะได้รับก็คือ ท่านจะเป็นคนที่มีจิตใจเยือกเย็น และน่าเคารพกราบไหว้ของคนทั่วไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านจะไม่เป็นทุกข์ร้อนเลย  แม้ว่าจะพบเห็นหือเกี่ยวข้องกับคนมากมายหลายประเภทในโลกนี้อยู่เสมอ

๓๘.  การพิจารณาอย่างต่อเนื่อง  แม้ในตอนที่ไม่ได้นั่งสมาธิอย่างนี้  คือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญา  ซึ่งปัญญานั้นสูงสุดแล้ว ก็คือความรู้จักปล่อยวาง  ไม่แบกหามภาระใด ๆ มาไว้ในใจจนนอนไม่หลับ และเป็นทุกข์นั่นเอง

๓๙.  จงจำไว้ว่า  การฝึกสมาธินั้น  แท้จริงแล้วท่านทำเพื่อให้เกิดปัญญา  ซึ่งปัญญานั่นเองที่จะเป็นตัวทำลายความทุกข์ทางใจให้หมดสิ้นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่  การอ้อนวอนอธิษฐานเอาอะไร ๆ ตามใจตนเอง

๔๐.  จงตั้งใจไว้ว่า  ถ้าจะรู้สึกเป็นทุกข์หงุดหงิดเมื่อไร ท่านต้องสลัดมันทิ้งเมื่อนั้น  ท่านจะไม่เอาอารมณ์นั้นมาอยู่ในใจ  ท่านสลัดอารมณ์ไม่ดีให้หลุดไปได้  ท่านก็จะรู้แจ้งธรรมะ เมื่อนั้น  ท่านจะหมดทุกข์เมื่อนั้น  ท่านจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในชิวิตของท่าน  ในนาทีที่ท่านสลัดอารมณ์หงุดหงิดไม่สบายออกไปจากใจได้

จบตอนทึ่ ๔ คู่มือดับทุกข์ โดยท่านอิสระ
ขออนุญาต คัดลอกนำมาเผยแพร่โดย
นายณัฐนันท์  วังวีระนุสรณ์
http://nuttanun-wung.com/

23/04/2553



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น