วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

วิธีฝึก ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ตอนที่ ๒



สวัสดีครับ พบกับบทความใหม่ใน Better Life Blog 
 นำเสนอสิ่งดี ๆ สู่ชีวิต ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ




รู้จักใจ คือ กำไรชีวิต บทที่ ๓/๒ ใช้กายเป็นอุบายฝึก

วิธีฝึก ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

          เมื่อเราสังเกตลมหายใจเข้าออกไปสักระยะหนึ่ง  จนใจเริ่มคุ้นเคยและตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่กับลมหายใจเข้าออกแล้ว  ให้เราถอนออกจากสมาธินั้น แล้วเปลี่ยนมาฝึกด้วยวิธีอื่นต่อ  เนื่องจากสมาธิที่เกิดจากการสังเกตลมหายใจเข้าออกนั่นไม่เอื้อต่อการเกิดของปัญญา   เพราะเป็นสมาธิที่แนบแน่น และปักดิ่งอยู่กับอารมณ์เดียว ไม่ปล่อยให้สติไปรับรู้อารมณ์อื่น ๆ  สติสัมปชัญญะจึงไม่เกิดขึ้นมากเท่าที่ควร

จึงแนะนำให้เปลี่ยนจากการสังเกตลมหายใจ (อานาปานสติ) เพียงอย่างเดียว  มาเป็นการทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมแทน   เพราะเป็นการนั่งสมาธิเช่นกัน แต่เป็นสมาธิที่ไม่แนบแน่น พร้อมจะปล่อยสติไปดูสิ่งระทบอื่น ๆ ที่ปรากฏขึ้นได้  เมื่อมีสิ่งใหม่ ๆ มากระทบ  สติก็สามารถทิ้งอารมณ์เดิมไปรับรู้อารมณ์ใหม่ได้ทันที

การทำความรู้สึกตัวพร้อม   ทำได้อย่างไร?  มีวิธีทำได้ ๒ วิธี คือ

วิธีแรก  การสังเกตแบบแนบชิด

        -  สำรวจไปทั่วร่างกาย  โดยเริ่มจากบนลงล่างก่อน  ตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงปลายเท้า

        -  ใช้สติสังเกตที่ละส่วนให้ทั่ว  ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ด้านบน ด้านล่าง  เช่นหากสังเกต             แขน ก็ให้สังเกตทุก ๆ ส่วนตั้งแต่ต้นแขน เลื่อนลงไปจนสุดปลายแขนโดยไม่ไปสังเกตส่วนอื่น

        -  เมื่อสังเกตทั่วแล้ว ก็เลื่อนไปสังเกตส่วนต่อไปในลักษณะเดียวกัน

        -  เมื่อสังเกตจนครบทุกส่วนในร่างกายแล้ว  จึงย้อนมาสังเกตจากล่างขึ้นบนแทน
     
        -  สังเกตขึ้น ๆ ลง ๆ สลับกันไปอย่างต่อเนื่องจนชำนาญ


          เมื่อฝึกฝนด้วยวิธีการนี้ จนชำนาญแล้ว จะได้รับประโยชน์มหาศาล  เนื่องจากการฝึกเคลื่อนสติไปตามจุดต่าง ๆ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้สติสัมปชัญญะมีกำลังมาก  จนสามารถใช้มองทะลุทะลวงร่างได้เหมือนการฉายเอกซเรย์  ไม่ว่าจะเป็นจากด้านหน้าทะลุไปด้านหลัง จากด้านหลังทะลุไปด้านหน้า จากบนทะลุไปล่าง จากล่างทะลุขึ้นบน  จึงสามารถนำไปใช้ในการบำบัดทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นขณะที่เราเจ็บป่วยได้

          การที่ใจไม่ได้อยู่นิ่ง แต่ต้องย้ายไปย้ายมาเพื่อสังเกตส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอยู่ตลอด  ทำให้สมาธิที่เกิดขึ้น  จากการทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเป็นสมาธิในแบบที่เอื้อให้ปัญญาเกิดได้รวดเร็วที่สุด  วิธีนี้เป็นวิธีที่ครูบาอาจารย์นิยมใช้กันมาก  เพราะเมื่อทำแล้ว  ใจจะตั้งมั่นเป็นสมาธิ ทำให้สามารถนั่งสังเกตกายได้ทั้งวันโดยไม่เบื่อ  ปัญญาจึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว


วิธีที่สอง  การสังเกตุร่างกายแบบรวม ๆ

        -  สังเกตทั่วร่างกาย  โดยไม่ต้องเจาะจงสังเกตอาการใด อาการหนึ่งเป็นพิเศษ

        -  สังเกตให้เห็นว่าตอนนี้อยัยวะต่างๆ อยู่ในลักษณะอย่างไร และมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นที่อวัยวะ
           ส่วนนั้นบ้าง  เช่น  สังเกตว่ากำลังอยู่ในอริยาบถไหน นั่งทำอะไรอยู่  ศีรษะอยู่อย่างไร คออยู่              อย่างไร หลังตรง หรืองออยู่    แขนขาวางอยู่ในท่าทางอย่างไร และรู้สึกอย่างไรบ้าง

        -  หากสังเกตพบว่ามีความรู้สึกใหม่ ๆ เกิดขึ้นที่ใดก็ให้ไปสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น เย็นมากระ
           ทบที่ขา ก็ตามไปสังเกตที่ขา ร้อนมากระทบที่หลัง ก็เปลี่ยนไปสังเกตที่หลัง ความรู้ในปัจจุบัน              คือ  อะไร เห็นสิ่งกระทบ ใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตรงไหน ก็ให้ย้ายใจไปสังเกตที่นั่น                  แล้วสติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้นมาก  เพราะ สิ่งที่กระทบ และความรู้สึกใหม่ ๆ นั่นเกิดขึ้นตลอด                เวลากระทบหนึ่งครั้ง สังเกตทันหนึ่งครั้ง สติก็เกิดขึ้นหนึ่งครั้ง  ถ้าหมั่นฝึกฝนจจนกระทบทุกครั้ง            สังเกตทันทุกครั้ง  สติสัมปชัญญะก็จะเกิดขึ้นทุกครั้ง

           วิธีนี้ทำให้เราสามารถใช้ทุก ๆ สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นกับร่างกาย และจิตใจของเราเป็นเครื่องมือฝึก            สติสัมปชัญญะได้หมด  ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจเข้าออก  อากัปกิริยาของร่างกาย  ความรู้สึก                ความคิด ฯลฯ  สิ่งใดปรากฏขึ้นเวลาใด ก็สังเกตใส่ใจและเรียนรู้จากสิ่งนั้น  วิธีนี้สามารถใช้เป็น            อุบายเจริญสติได้ตลอดไป   เมื่อทำวิธีนี้ได้แล้ว จะทำให้วิปัสสนา - ปัญญาเกิดขึ้นตามมา จะ              ทำให้ทันความรู้สึกทางทวารทั้งหก

          การทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งสองแบบนี้ จึงมีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ  และหากเราสามาถฝึกหัดด้วยวิธีนี้ได้อย่างชำนาญแล้ว จะไม่กลับไปสังเกตลมหายใจอีกเลยก็ได้

          การสังเกตลมหายใจเข้าออกและการทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น  คือวิธีที่เหมาะสำหรับการฝึกในอิริยาบถทั้ง ๓ คือ นั่ง ยืน และนอน  ส่วนอีกอิริบทหนึ่งคือ เดิน  มีวิธีสังเกตโดยละเอียดในขณะเดินต่างหาก

* การฝึกสติด้วยการสังเกตลมหายใจเข้าออก และการทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั้น จะทำโดยหลับตาหรือไม่ก็ได้  เพราะตาไม่ใช่อุปกรณ์ที่จำเป็นในการสังเกตเพื่อฝึกสติ  แต่เราจะหัดสังเกตสิ่งต่าง ๆ กันด้วยตาใน หรือใจ แทน *

หนังสือ *รู้จักใจ คือ กำไรชีวิต* สำนักพิมพ์อมรินทร์
พระอาจารย์มานพ อุปสโม
ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษาราชนครินทร์
(เขาดินหนองแสง) ต.เขาวงกต อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

คัดลอกโดย : ณัฐนันท์ วัง
๐๘/๐๑/๒๕๕๕  ๑๕.๐๐ น.

http://bit.ly/เซียงเงี๊ยบฮ้อ
http://bit.ly/ศิษย์เก่าพณิชยการพระนคร
http://facebook.com/lagone8888
http://twitter.com/NuttanunWung

1 ความคิดเห็น:

  1. ช่วยแสดงความติดเห็นด้วย เพื่อการปรับปรุง หรือชี้แนะก็น้อมรับทุกความคิดเห็น ขอบคุณครับ

    ตอบลบ