วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

คู่มือดับทุกข์ ฉบับสมบูรณ์ โดย ท่านอิสระ ตอนที่ ๒

จงยอมให้คนอื่นได้เปรียบท่าน
โดยไม่ต้องโต้เถียงกับเขา
แล้วท่านจะเป็นผู้ชนะอย่างถาวร

๑๑.  จงยกเอาปัญหานั้นขึ้นมาพิจารณา  ว่าปัญหามันมาจากไหน? มันเกิดขึ้นเพราะอะไร? เพราะอะไรท่านจึงหนักใจกับมัน? ทำอย่างไรที่ท่านจะสามารถแก้ไขมันได้? ทำอย่างไรท่านจึงจะเบาใจและไม่เป็นทุกข์กับมัน?
๑๒.  การพิจารณาอยู่ด้วยจิตอันสงบอย่างนี้  การถามหาเหตุผล กับตัวเองอย่างนี้  จิตของท่านมันจะค่อย ๆ รู้เห็น  และเกิดความคิดนึกรู้สึกอันฉลาดขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน  จิตจะสามารถเข้าในต้นสายปลายเหตุของปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง  นักปฏิบัติจึงต้องพยายามพิจารณาปัญหาต่าง ๆ อย่างนี้เรื่อยไป  หลังจากที่จิตสงบแล้ว

๑๓.  ในกรณีที่ยังไม่มีปัญหาความทุกข์เกิดขึ้น  หลังจากที่ทำจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว  จงพยายามคิดหาหัวข้อธรรมะหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งมาพิจารณา เช่น ยกเอาชีวิตของตัวเองมาพิจารณาว่า  มันมีความมั่นคง จีรังยั่งยืนอะไร เพียวใหน?  ท่านจะได้อะไรจากชีวิต คือร่างกายและจิตใจนี้?  ท่านจะอยู่ไปในโลกนี้นานเท่าไหร่?  เมื่อท่านตาย  ท่านจะได้อะไร?  ให้พยายามถามตัวเองเช่นนี้อยู่เสมอ

๑๔.  หรือท่านอาจจะน้อมจิตไปสำรวจการกระทำของตัวเองเท่าที่ผ่านมาร พิจารณาดูว่า ท่านได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ส่วนรวมหรือไม่?  หรือท่านได้ทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง?  และตั้งใจไว้ว่า  ต่อไปนี้ท่านจะไม่ทำสิ่งผิด  จะไม่พูดสิ่งที่ไม่ดี  ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนและไม่สบายใจ  ท่านจะพูดจะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกนี้  ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของชีวิตท่านเอง

๑๕.  จงเข้าใจว่า เป้าหมายที่ถูกต้องของการฝึกสมาธินั้น  คือท่านจะฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกชั่วระยะเวลาหนึ่ง  เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จิตนั่นจะมีกำลัง และมั่นคง สภาวจิตเช่นนั้นเองที่มันจะมีความพร้อมในการที่จะรู้ จะเข้าใจปัญหาต่าง ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อมตัวท่านอยู่ได้อย่างถูกต้องตามเป็นจริง


๑๖.  สรุปว่า  ท่านจะฝึกสมาธิเพื่่อที่จะเรียกกำลังจิตจากสมาธินั้นไปพัฒนาความคิด หรือความรู้สึกของท่านให้ดูกต้อง ซึ่งความรู้สึกคิดนึกที่ถูกต้องนั้น แท้จริงแล้วก็คือ "ปัญญา"  นั่นเอง
๑๗.  จงจำไว้ว่า ปัญหาอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่านคือ  ความทุกข์  ความกลัดกลุ้มใจ  และความทุกข์นั้นก็จะไม่หมดไปได้เพราะการไหว้วอนบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ  แต่มันจะหมดไปจากใจของท่านได้  ถ้าท่านมีปัญญารู้เท่าทันตามเป็นจริงในสิ่งที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์นั้น

๑๘.  ดังนั้น  ในการฝึกสมาธิทุกครั้ง  ท่านจึงต้องกำหนดจิตให้สงบเสียก่อน จากนั้นจึงเอาจิตที่สงบนั้นมาพิจารณาทบทวนปัญหาที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์

๑๙.  ท่านจะต้องรู้ความจริงด้วยว่า  ปัญหาหลาย ๆ อย่างท่านไม่สามารถแก้ไขมันได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ตามสภาวะแวดล้อมของมัน แต่หน้าที่ของท่านคือจะต้องพยายามหาวิธีทำกับมันให้ดีที่สุด โดยคิดว่าท่านทำได้ดีที่สุดเพียงเท่านี้ ผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ช่างมัน ปัญหามันจะหมดไปหรือไม่ก็ช่างมัน  ท่านจะได้หรือเสียก็ช่างมัน ท่านทำหน้าที่ของท่านได้ดีที่สุดแล้ว  ท่านก็ถูกต้องแล้ว เรื่องจะดีร้ายได้เสียมันก็ไม่ใช่เรื่องของท่าน

๒๐.  ท่านจะต้องเปิดใจให้กว้าง  ให้ยอมรับในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามเหตุปัจจัยของมัน เช่นเรื่องไม่ดีที่ไม่น่าปรารถนา  มันก็อาจจะเกิดขึ้นกับท่านได้ตามเหตุปัจจัยของมัน เพราะทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยวแท้แน่นอนอะไร บางทีมันก็ดี บางทีก็ไม่ดี มันเป็นอยู่อย่างนี้เอง  เรื่องไม่ดีที่ไม่น่าปราถนานั้น แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่โลกนี้มานานแล้ว  ทุกคนที่เกิดมาในโลกก็ล้วนแต่จะต้องประสบกับมันทั้งนั้น  แม้ว่าอาจจะมีลักษณะแตกต่างกันบ้างก็ตาม  เรื่องไม่ดีไม่น่าปราถนานั้น  ไม่ใช่เกิดมาจากอำนาจของเทวดาฟ้าดิน ที่ใหนเลย มันเป็นของธรรมดาที่มีอยู่ในโลกอย่างนี้เอง มันเป็นไปตามกรรม
 
คู่มือดับทุกข์  ตอนที่ ๒ ก็จบลงที่ข้อ ๒๐ ตอนที่  ๓ จะนำมาเผยแพร่ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น