วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พุทธามหาสติ - ภาคปฏิบัติ

สวัสดีครับ พบกับบทความใหม่ใน Better Life Blog นำเสนอสิ่งดี ๆ สู่ชีวิต ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ




กาย    เคลื่อนไหว    รู้สึก
ใจ    เคลื่อนไหว    รู้สึก
เกิด         ดับ
ไม่เที่ยง    เป็นทุกข์    ไม่มีตัวตน

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน (สติปัฎฐาน ๔ )

๑.    การเกิดเป็นทุกข์ยิ่งนัก

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า  การเกิดนั้นเป็นทุกข์  ความทุกข์  คือ  ธรรมชาติที่ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดืมได้  ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร  ในภพภูมิใดก็ตาม  ล้วนย่อมตายไปในที่สุด
ในเมื่อสัตว์ทั้งหลายยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตลอดเวลา   * การไม่เกิดจึงจะถือว่าพ้นทุกข์โดยไม่เหลือเชื้อ *  การที่มีผู้สอนว่า  การตายแล้วสูญ  เป็นคำเท็จ  เพราะถ้าสัตว์ทั้งหลายมีเพียงชาติเดียวแล้ว  เราจะมีพระพุทธศาสนาเพื่ออะไรกัน  เพราะในที่สุดทุกข์ทั้งหลายก็จะหมดสิ้นตามไปกับการตายอยู่แล้ว

ทุกข์ที่ติดมาจากการเกิดมีอยู่ถึง ๑๑ อย่าง  แบ่งออกเป็นทุกข์ประจำ ๓ อย่าง  ได้แก่  เกิด  แก่  ตาย  และทุข์จร ๘ อย่าง ได้แก่  แห้งใจ  ระทมใจ ไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  คับแค้นใจ  พบเห็นสิ่งที่ไม่ได้รักใคร่  พลัดพรากจากสิ่งที่รัก และไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา
สิ่งเหล่านี้พ่วงมากับการเกิดทั้งสิ้น  ผู้มีปัญญาจึงย่อมกลัวเกิดและไม่กลัวตาย  เพราะการเกิดเป็นเหตุให้ต้องตาย  และก่อนตายต้องลำบากในการดูแลชีวิตตังเองและครอบครัว  โดยหยุดพักผ่อนไม่ได้เลยจนกว่าจะตาย  และต้องเกิดมาอีก  ที่สำคัญไม่แน่ว่า  จะได้เกิดในสุคติภูมิหรือไม่  อาจต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรกเปรต  อสูรกาย และสัตว์เดรัจฉานก็ได้  พระพุทธองค์จึงตรัสว่า  ทุกข์เสมอด้วยขันธ์นั้นไม่มี

๒.    เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์  คือ  ตัณหา  หมายถึง  ความทะยานอยากไปกับความเพลิดเพลินและความกำหนัด  เป็นเหตุให้เกิดความพอใจยิ่งในอารมณ์นั้น  ความทะยานอยากนี่เองที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเกิดแล้วเกิดอีก  ตัณหานี่เองที่ทำให้ทุกชีวิตมีการเวียนว่ายกายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก  ชาติ (ปัจจุบัน) เป็นผลของกิเลสและกรรมของอดีตชาติ และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดกิเลส  กรรม  วิบาก  ซึ่งหมุนเวียนเป็นวงกลมที่ไม่มีวันขาดจากกันได้   หมดตัณหาจึงหมดกรรม ไม่เกิดอีก (กิเลส แปลว่า  สภาพที่ทำให้ใจเศร้าหมอง)

กิเลสมีองค์ธรรม ๑๐  ประการ

        ๑.  โลภะ    มีความพอใจในอารมณ์                                ๒.   โทสะ    ไม่พอใจในอารมณ์
        ๓.  โมหะ   ความหลง  ไม่รู้ความจริงของชีวิต                 ๔.  มานะ    ความถือตัว
        ๕.  ทิฐิ       ความเห็นผิด                                                    ๖.  วิจิกิจฉา    ความลังเลสงสัย
        ๗.  ถีนะ    จิตใจหดหู่                                                         ๘.  อุทธัจจะ   จิตใจฟุ้งซ่าน
        ๙.  อหิริกะ    ไม่ละอายต่อบาป                                       ๑๐.  อโนตตัปปะ    ไม่กลัวผลของการทำบาป

จบ ตอนที่  ๑-๒ /๙
คัดลอกจากหนังสือ   *พุทธามหาสติ* ภาคปฏิบัติ

โดย ณัฐนันท์  วัง
http://twitter.com/NuttanunWung
http://sites.google.com/site/nuttanun11
http://bit.ly/Bkk06-Club


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น