วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมใหน ?

วัดพระธาตุลำปางหลวง


หนังสือคู่มือมนุษย์

ท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ 


หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ องค์บรรยาย

ศาสนาเกิดขึ้นมาในโลกด้วยอำนาจของความกลัว และมีการปฏิบัติไปตามความกลัว วิธีที่จะหลบหลีกอันตรายก็คือต้องแสดงอาการยอมแพ้หมอบกราบอ้อนวอนบูชา (๑)

ความกลัวของคนชั้นหลังๆ เช่น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความหม่นหมองมืดมัว อำนาจของความอยาก ความโกรธ ความหลงผิด คนเราจะมีึอำนาจ มีเงินมีทองสักเท่าไร ก็ไม่สามารถระงับอาการกลัวเหล่านี้ได้ มีการค้นหาวิธีเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเอาชนะความอยาก ความโกรธ ความหลงผิดให้ได้ นับว่าเป็น บ่อเกิดของศาสนาที่สูงขึ้นไปในทางปัญญา ในที่สุดก็พบวิธีที่จะเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตายหรือเอาชนะกิเลสต่างๆื ได้ (๒)

พระพุทธศาสนา ก็มีมูลมาจากความกลัวแบบหลังนี้ พระพุทธเจ้า เป็นผู้พบวิธีที่จะเอาชนะสิ่่งที่คนกลัวได้ และเกิดวิธีปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์นั้นชนิดที่เรียกว่า พระศาสนา พุทธศาสนาแปลว่า ศาสนาของผู้รู้ เพราะ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ คือรู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงได้ถูกต้อง เพราะฉะนนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรืออาศัย วิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น (๓)

การทำพิธีรีตอง การบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนา พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง(๔)

มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา "ความรู้ ความฉลาด และความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดี อยู่ในตัวมันเองแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆ ที่มัวแต่นั่งคำนวณควงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น"
หรือ"ถ้าหากคนจะพันทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวง บูชาอ้อนวอน ๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะว่าใครๆ ต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น" (๕)

พุทธศาสนาไม่ประสงค์การคาดคะเน เผื่อจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะทำไปตรงๆ ตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่น หรือจะต้องพิจารณาจนเห็นจริงว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง(๗)

ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการการคิดในแนวใหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ (๘)

ความจริงหรือสัจจะสำหรับคนหนึ่งๆ นั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจและมองเห็นเท่าไรเท่านัันเอง สิ่งที่เรียกว่า ความจริง ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สติปัญญา่ไม่เหมือนกัน (๙)

ความจริงของคนหนึ่งๆ นั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จนถึงความจริงสุดท้าย คนเราการศึกษาต่างกัน หลักการพิจารณาจะเชื่อต่างๆ กัน ดังนั้นก็จะมองศาสนาต่างๆ กันไป (๑๐)
                                                                                 


พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อนและทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไร ๆ เพิ่มขึ้นได้ทุกโอกาสที่คนเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฎกก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลัง ๆ เพิ่มเติมข้อความเข้าไป ตามที่เห็นจำเป็นสำหรับยุคนั้น เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆ หรือกลัวบาปรักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขต จนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่ (๑๑)

แม้แต่พิธีต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับพระพูทธศาสนาเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็นับเช้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วย เช่น การจัดสำรับคาวหวานเพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าถวายข้าวพระพุทธ เป็นต้นซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกได้สอนกันถือกันอย่างเคร่งครัด (๑๒)

พิธีรีตองต่างๆ ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมายจนห่อหุ้มของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาปสูญไป เช่น เรื่่องการบวชนาค ก็เกิดพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมากมายมาเลี้ยงดูกันอย่้างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่บ้านและวัด บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา (๑๓)

การบวชสมัยพระพุทธเจ้า คือ บุคคลใดที่ได้รับการอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว ก็ปลีกตัวจากบ้านเรือนไปอยู่กับพระพุทธเจ้่าและพระสงฆ์ โอกาสเหมาะสมก็จะได้รับการบวชให้ โดยมิได้พบหน้าบิดามารดาญาติพี่น้องเลย จนตลอดชีวิตก็มี แม้บางรายจะกลับมาเยี่ยมบิดามารดาบ้างก็ต่อเมื่อมีโอกาสเหมาะสม ในพุทธศาสนามีระเบียบว่ามาบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีึเหตุผลสมควร การบวชนั่นไม่ได้เวียนมาที่บ้าน บวชต่อหน้าบิดามารดา ไม่ได้ฉลองกันเป็นการใหญ่แล้วไม่กี่วันก็สึก ไม่มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิม อย่างที่เป็นกันอยู่เวลานี้ (๑๔)
เราหลงเรียกการทำขวัญนาคและพิธีการต่างๆ ว่าเป็นพุทธศาสนา สิ้นเปลืองทรัพย์สินมากมาย พุทธศาสนาใหม่ๆ อย่างนี้เกิดขึ้นมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะ หรือของจริงที่เคยมามาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายไปอย่างอื่น เช่นการบวช ก็กลายเป็นเรื่องแก้หน้าเด็กหนุ่มๆที่ถูกว่าเป็นคนดิบ หาเมียยาก เป็นต้น (๑๕)

กฐิน : พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายจะให้ภิกษุทำจีวรเป็นด้วยตนเองทุกรูป ช่วยกันด้วยมือของตนเองในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าผ้าที่ช่วยกันทำมีผืนเดียวก็มอบให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าอาวาส แต่เป็นภิกษุซึ่งหมู่สงฆ์เห็นว่าสมควรจะใช้จีวรผืนนั้น (๑๖)

พระองค์ทรงมุ่งหมายจะให้พระทุกรูปหมดความถือเนื้อถือตัว เพื่อจะมาระดมกันทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้จีวรนั้นสำเร็จได้ในวันนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายให้สิ่งที่่เรียกว่ากฐินเป็นอย่างนั้น คือไม่ต้องไปเกี่ยวกับฆราวาสเลยก็ได้ แต่เีดี๋ยวนี้กฐินกลายเป็นเรื่องมีไว้สำหรับประกอบพิธีหรูหราหาเงินเอิกเกริกเฮฮาสนุกสนานพักผ่อน ไม่ได้รับผลสมความมุ่งฟมายอันแ้ท้จริง แต่กลับใช้เวลา สิ้นเปลืองเงินทองมากมาย กินเหล้า เล่นไพ่เฮฮากันอย่างสนุกสนานหรือไม่ก็มุ่งหน้่าหาเงินกันเท่านั้น (๑๗)

พุทธศาสนา เนื้องอก ทำนองนี้มีขึ้นใหม่ๆ มากมายหลายร้อยอย่าง และให้ชื่อว่า "พุทธศาสนาเนื้องอก" จนปิดบังห่อหุ้มเนื้อดีหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ค่อยๆ ลบเลือนหายไป เกิดเป็นนิกายใหม่และนิกายย่อยๆ อีกมากมาย ที่กลายเป็น นิกายตันตระ ที่่เนื่องกับกามารมณ์ไปก็มี จำเป็นจะต้องแยกแยะให้รู้จักตัวพุทธศาสนาเดิมแท้ไว้เสมอ จะไ้ด้ไม่หลงงมงายยึดถือเปลือกที่หุ้มภายนอกหรือติดแน่นในพิธีรีตองต่างๆ ผิดไปจากความมุ่งหมายเดิม (๑๘)

เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่า เป็นพุทธศาสนาตามที่เขาว่าเป็นพุทธศาสนา พวกเราที่จะช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั่้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักจับฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ถูกชิ้นเนื้องอกดังกล่าวมาแล้ว (๑๙)

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศิลธรรม (Moral)เพราะกล่าวถึงบุญถึงบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญูู ความสามัีคคี ความเป็นคนที่เปิดเผย และอะไรอีกมากมายที่หล่าวอยู่ในพระไตรปิฎก แม้ชาวต่างประเทศก็มองดูในส่วนนี้อยู่มาก และชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีมาก (๒๒)

พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจจธรรม(Truth)คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับนอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้ ส่วนนี้่ก็ได้แก่ความรู้เรื่อง ความว่างเปล่าของสรรพสิ่งทั่งปวง(สุญญตา) ความไม่เที่ยง(อนิจจัง) ความเป็นทุกข์(ทุกขัง) ความไม่ใช่ตัวตน(อนัตตา)หรือเรื่องการเปิดเผยว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร ความดับสนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ฺเป็นอย่างไร ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้(อริยสัจจ์)ซึ่งทุกคนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะเป็นสัจจธรรม (๒๓)พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนา(Religion)คือส่วนที่เป็นระเบียบปฏิบัติ ซึ่งได้แก่ ศิล สมาธิ ปัญญา กระทั่้งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฏิบัติจะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ได้จริง นี่เรียกว่า "พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา" (๒๔)


พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา(Psychology)เช่น พระไตรปิฎกภาคสุดท้าย กล่าวถึงลักษณะของจิตไว้กว้างขวาง เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคายหรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก (๒๕)

พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา(Philosophy)คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยตามหลักแห่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่เห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือการพิสูจน์ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย "ตาใน"คือ ญาณจักษุ เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์(Science)ได้ ความรู้สึกอันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรม แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วด้วยจิตในของท่านเองไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล (๒๖)

หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์ (๒๗)

พระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล และมีคำสอนอีกมากที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยเฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย (๒๘)

พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา(Logic)ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมาด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมปิฏกบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุ (๒๙)

พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด คือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา หมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงไหลต่างๆ ออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา (๓๐)

พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ(Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปแห่งการครองชีวิต คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม การที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้น่าดูน่าชมน่าเลี่อมใสน่าบูชา แก่คนทั้งหลาย เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศิลบริสุทธิ์ มีความงดงามในเบื้องกลาง ด้วยจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต มีความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มาีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น (๓๑)

เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม ๓ ประการนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด (๓๒)

การเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา นำมาใช้เป็นแบบแห่งการครองชีวิตได้นั้น ทำให้เกิด ความบันเทิงรื่นเริงตามทางของธรรมะ ผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามศิลปแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น คื่อผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั่้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้ ไม่สามารถสร้างความทุกข์ได้ อากัปกิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิงเริงรื่นอย่างแท้จริง นับเป็นข้อที่ควรถือเป็นศิลปในพุทธศาสนา (๓๓)

ธรรมะในพุทธศาสนา จะให้ความเพลิดเพลินแก่จิตใจที่ต้องการธรรมะ คนที่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสยังต้องการอาหารทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แสวงหากันไปตามวิสัยปุถุชน แต่มีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึก
และไม่ต้องการอาหารอย่างนั้น คือวิญญาณ ซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงรื่นเริง คืออาหารทางธรรมะ มีความสงบระงับในใจชนิดที่กิเลสมารบกวนไม่ได้ มีความเห็นแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" (๓๔)

กลางคืนอัดควัน หมายถึงการนอนไม่หลับ คิดจะแสวงหาอย่างนั้นอย่างนี้่ คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภหรือสิ่งต่างๆ ที่ตนปรารถนา อันเป็นควันกลุ้มอยู่ในใจ ต้องทนนอนอัดควันอยู่ (๓๕)

กลางวันเป็นไฟ รุ่งขึ้นก็วิ่งว่อนไปตามความต้องการของ ควัน ที่อัดไว้เมื่อคืน เป็นอาการของจิตใจที่ไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรมเป็นความหิวกระหาย ไปตามอำนาจของกิเลสและตัณหา (๓๖)

ถ้าคนเราต้อง กลางคืนอัดควันกลางวันเป็นไฟ ไปจนตลอดชีวิตจะเป็นอย่างไรบ้าง มีความทนทุกข์ทรมานตลอดชีวิต โดยไม่มีสติปัญญาที่จะระงับดับไฟ ดับควันนั้นเสียเลย บุคคลชนิดนี้จะต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับช่วยแก้ไขให้เบาบางลงตามส่วน เมื่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั่้งปวงถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่าไรควันหรือไฟก็จะลดน้อยลงเท่านั้น (๓๗)

ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นมีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุม (มองต่างมุม) แม้พระพุทธศาสนา จะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช่ความที่โง่เขลา ของคนป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพหรือไหว้สิ่งที่มีปรากฏการณ์แปลกๆ แต่เป็นความชนิดที่สูงด้วยสติปัญญา คือ กลัวว่าจะไม่ได้รอดพ้นไปจากการบีบคั้นของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็น ๆ กันอยู่ (๓๘)

พุทธศาสนาไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอกเล่าตามพระไตรปิฎก หรือตัวพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ต้องเป็น ตัวการปฏิบัติด้วยกายวาจาใจ ชนิดที่จะืำลายกิเลสให้ร่อยหรอหรือหมดสิ้นไปในที่สุด ไม่จำเป็นต้องจากหนังสือ ตำรา ไม่ต้องอาศัยพิธีรีตอง หรือสิ่งภายนอก เช่นผีสางเทวดา แต่ต้องเนื่องด้วย กายวาจาใจ โดยตรง คือจะต้องบากบั่นกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้แจ้ง สามารถทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน นี่คือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ในส่วนที่เราจะต้องเข้าถึงให้จงได้ อย่าได้ไปหลงยึดเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนา มาถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนากันเลย....(๓๙)

บทความข้างต้นได้คัดลอกบางตอนจากหนังสือ คู่มือมนุษย์ จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา เพื่อสืบทอดการเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระศาสนา ตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ(ผชป.)

ท่านที่ต้องการอ่านคำบรรยายต้นฉบับโดยละเอียดและพิศดาร ขอให้อ่าน คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุ ได้บรรยายไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา

ขอกราบขอบพระคุณ พระเดชพระคุณ หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ คุณปุ่น จงประเสริฐ และสำนักพิมพ์ธรรมสภา และต้องขอกราบอภัยที่ไม่ได้ขออนุญาต ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่ในเวปไซส์แห่งนี้

คัดลอกนำพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ
โดย นายณัฐนันท์ วังวีระนุสรณ์
http://nuttanun-wung.com/

27 ส.ค.2552



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น