วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เริ่มฝึกสติ ด้วยการสังเกตกาย








สวัสดีครับ พบกับบทความใหม่ใน Better Life Blog 
 นำเสนอสิ่งดี ๆ สู่ชีวิต ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ



รู้จักใจ คือ กำไรชีวิต บทที่ ๓/๑ ใช้กายเป็นอุบายฝึกสติ


พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า  การจะเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะนั้น ต้องอาศัยความพากเพียรในการสังเกตให้มากในระยะแรกให้เราเริ่มด้วยการค่อย ๆ ฝึกสังเกตร่างกายไปก่อน ในชีวิตประจำวัน  เพียงแค่สังเกตร่างกายของเราในอิริยาบถต่าง ๆ ตามที่กำลังเป็นอยู่ในแต่ละขณะให้ทัน  ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน  สติสัมปชัญญะก็เกิดขึ้นได้  ถ้ามีการสังเกตหากนั่งอยู่  ยืนอยู่  เดินอยู่  และนอนอยู่ ก็ให้สำรวจตรวจดูกายและทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

ในกายนั่ง  ในกายยืน ในกายเดิน และในกายนอน  หมั่นสังเกตบ่อย ๆ ว่า  เรานั่ง ยืน เดิน และนอนอย่างไร  ยิ่งทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในอิริยาบถต่าง ๆ ได้บ่อยเท่าไร  สติสัมปชัญญะก็จะยิ่งเกิดขึ้นบ่อยเท่านั้น  และเมื่อสติสัมปชัญญะแคล่วคล่องว่องไวขึ้นเราก็จะสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ละเอียดขึ้น และเมื่อสติสัมปชัญญะของเราเพิ่มมากขึ้น การดูใจ ดูความรู้สึก ก็จะง่ายขึ้นด้วย

การฝึกสตินั้นสามาถทำได้ในทุก ๆ อิริยาบถ แม้แต่ขณะที่นอน นั่ง ยืน หรือเดินไม่ได้  พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้นอนปฏิบัติได้

อุบายวิธีในกาฝึกดูกายนั้น มีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน  แต่จะเสนอแนะไว้ ๓ วิธี ดังนี้ 

การสังเกตลมหายใจ เป็นอุบายวิธีในการฝึกพัฒนาสติสัมปชัญญะที่เหมาะสำหรับผู้ฝึกหัดใหม่


วิธีฝึกสติด้วยการ สังเกตลมหายใจ

---เริ่มด้วยการนั่งในท่าที่สบาย ๆ จะเป็นนั่งขัดสมาธิ หรือ นั่งบนเก้าอี้ ก็ได้ แต่ขอให้พยายามตั้งตัวให้ตรง เพื่อช่วยให้ลมหายใจเข้า ออก ไม่ติดขัด และทำให้สามารถตามสังเกตลมหายใจเข้าออกได้ง่ายขึ้น  เริ่มด้วยการสังเกตลมหายใจเข้าออก เพียงแค่มองดูเฉย ๆ ให้รู้ว่า  *เมื่อไรหายใจเข้า เมื่อไรหายใจออก *เท่านั้นก็พอ ไม่ต้องบังคับหรือกลั้นลมหายใจ  ปล่อยการหายใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ

----คอยสังเกตดูลมหายใจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่เริ่มหายใจเข้าจนเต็มปอด แล้วก็ตามดูลมหายใจออกจนหมด  เพียรตามดู ตามสังเกตเฉย ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ หายใจเข้าก็รู้ หยุดหายใจก็รู้ หายใจออกก็รู้  โดยไม่ต้องพยายามบังคับลมหายใจ  เวลาสังเกตให้สังเกตด้วยใจ โดยไม่ต้องพูด เหมือนคนสองคนที่เดินสวนกัน มองหน้ากัน โดยไม่เอ่ยปากทักทายกัน แต่ต่างก็รู้ว่าเดินสวนกัน

-----เมื่อรู้สึกว่าหายใจเข้าก็สบาย หายใจออกก็สบาย ก็รับรู้อย่างสบาย ๆ ไม่ต้องพยายามบังคับว่าต้องตามทันตลอดหากตั้งใจแล้ว จะรู้บ้าง หลุดบ้าง ก็ไม่เป็นไร เมื่อหลุดไปก็ให้เพิ่มการสังเกต ว่าใจหลุดไปแล้ว ก็กลับมาสังเกตลมหายใจเข้าออกต่อ

------ระหว่างสังเกต ใจจะนิ่งหรือไม่นิ่งก็ไม่เป็นไร เพราะใจที่เคยรับรู้เรื่องนอกกายมาตลอด ขาดสมาธิ คิดถึงแต่เรื่องอดีต คิดถึงคนโน้นคนนี้ คิดถึงบ้าน คิดถึงที่ทำงาน คิดเรื่องอนาคต เพราะฉะนั้นใจต้องการจะคิดถึงสิ่งอื่นบ้างก็ปล่อยไป ไม่ต้องบังคับให้นิ่ง เพราะใจไม่ชอบถูกบังคับ จะทำเกิดอาการไม่สงบ  เพียงแค่ตามสังเกตใจขณะกำลังคิดอยู่  และตามดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้ทันก็พอ

-------ฝึกตามดูความคิดและความรู้สึก สลับกับลมหายใจเข้าออกไปเรื่อย ๆ เมื่อความคิดความรู้สึกหมดไป ก็กลับมาสังเกตลมหายเข้า ออก ต่อ ลมหายใจยาว หรือ สั้น หยาบหรือละเอียด ก็ตามสังเกตดูให้รู้เท่าทัน
หากรู้สึกว่าลมหายใจละเอียดมาก(เบามาก) จนสังเกตุได้ไม่ชัดเจน ก็ไม่ต้องเข้าไปบังคับตัวเองให้หายใจแรงขึ้น หรือยาวขึ้น  พยายามสังเกตต่อไป สังเกตตรงจุดที่ลมหายใจเข้าออกมากระทบ สักระยะหนึ่ง นิมิตของลมหายใจเจ้าออกก็จะปรากฏเกิดขึ้นให้ใจรับรู้ ก็สังเกตดูที่นิมิตของลมหายใจเข้าออกนั้นต่อไป

--------นิมิตที่เกิดมาจากลมหายใจเข้าออก มีหลากหลาย แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน  บางครั้งจะคล้ายหมอกควันพุ่งออกมาจากโพรงจมูก คล้ายกับไออุ่นที่พูดออกมากระทบกับความเย็น เป็นหมอกควัน  บางนิมิตคล้าย ๆ กับแสงดาวบนฟ้าระยิบระยับ

---------วิธีการสังเกตลมหายใจง่าย ๆ อีกวิธี คือ ให้นั่งสบาย ๆ แล้วหายใจแบบสบาย จากนั้นสังเกตตรงบริเวณหน้าอกสักระยะหนึ่ง เราจะเริ่มมองเห็นอาการของลำตัวยึดขึ้นและย่อลงอย่างชัดเจน ให้สังเกตดูว่า ลำตัว หรือหน้าอกขยายขึ้น แสดงว่าหายใจเข้า พอลำตัว หรือ หน้าอกย่อลง คือลมหายใจออก สังเกตไปเรื่อย ๆ  จะทำให้รู้ว่าลมหายใจเข้าออกเองโดยไม่ต้องเกร็งไม่ต้องบังคับ แต่ให้รู้แบบสบาย ๆ สังเกตติดต่อกันไปเรื่อย ๆ

การฝึกสติไม่ใช่การบังคับใจให้สงบ แต่เป็นการสั่งสมการระลึกและรู้สึก เพื่อพัฒนาศักยภาพของสติสัมปชัญญะให้แคล่วคล่องว่องไว ส่วนความสงบนั้น คือ อานิสงส์หรือผลพลอยได้จากการปฏิบัติธรรม ที่เกิดขึ้นเมื่อเราเอาใจมาอยู่กับกายและลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ทำให้เรามีความสุข ใจก็สงบ เบาสบาย 


หนังสือ *รู้จักใจ คือ กำไรชีวิต* สำนักพิมพ์อมรินทร์
พระอาจารย์มานพ อุปสโม
ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษาราชนครินทร์
(เขาดินหนองแสง) ต.เขาวงกต อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

คัดลอกโดย : ณัฐนันท์ วัง
๓๐/๑๒/๒๕๕๔  ๑๒.๐๐ น.

http://bit.ly/Bkk06-Club
http://bit.ly/NuttanunPage
http://nutw.wordpress.com
http://facebook.com/lagone8888
http://twitter.com/NuttanunWung

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น